21 พฤศจิกายน 2024
Breaking News
Home / ความเป็นมา

ความเป็นมา

ความเป็นมา MBE

หลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่ให้การศึกษาระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ แก่ผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และผู้ที่กำลังทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาทางด้านวิชาการ โดยมีลักษณะเป็นโครงการพิเศษเปิดสอนในภาคค่ำ เริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2537 โดยรับนิสิตเข้าศึกษาเป็นรุ่นแรกในภาคต้น ปีการศึกษา 2537 – 2538 จำนวน 80 คน

ในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการดำเนินงานภาครัฐบาลไทย ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกอยู่ตลอดเวลา องค์กรในระดับต่างๆ ทั้งขนาดเล็กตลอดจนถึงขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ในการนี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจที่สามารถประยุกต์หลักเศรษฐศาสตร์เข้ากับการบริหารจัดการธุรกิจของเอกชน และองค์กรภาครัฐ เพื่อให้การจัดการและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ได้เล็งเห็นข้อเท็จจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมในฐานะสถาบันที่ให้การศึกษา จึงเห็นว่าปัจจุบันมีความจำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะให้การศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เน้นการประยุกต์เข้ากับการบริหารจัดการธุรกิจในลักษณะผสมผสานควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของนักบริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาโดยส่วนรวมในที่สุด

ดังนั้นจึงมีการอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์เพื่อนำไปพัฒนางานของตนให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวาระการประชุม ครั้งที่ 3/2537 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2537 และทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2538

วัตถุประสงค์

  • ผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจลึกซึ้งเพียงพอจนสามารถวิเคราะห์และดำเนินการหรือเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
  • เพื่อส่งเสริมผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานให้มีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และให้มีความสามารถพัฒนาความรู้ในการที่จะประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เพื่อส่งเสริมนักวิชาการให้มีความสามารถในด้านการค้นคว้าวิจัย และการศึกษาค้นคว้าอิสระทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และนำผลที่ได้รับไปปรับใช้ในทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
  • เพื่อสนองความต้องการด้านกำลังคนที่มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

รหัสสาขา XG65

ลักษณะหลักสูตร และระยะเวลาการศึกษา

หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มี 2 แผน คือ แผน ก มีวิทยานิพนธ์ หน่วยกิตรวม 41 หน่วยกิต และแผน ข มีการศึกษาค้นคว้าอิสระ หน่วยกิตรวม 41 หน่วยกิต หลักสูตรมีระยะ เวลาการศึกษา 2 ปี แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ภาคการศึกษาต่อปี ดังนี้

ภาคต้น        เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน
ภาคปลาย    เดือนธันวาคม –  เมษายน
ภาคฤดูร้อน  เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

เวลาเรียนระหว่างวันจันทร์ –  ศุกร์ 18.00 – 21.00 น. (เรียนสัปดาห์ละ 3 – 4 วัน) และ/หรือ วันเสาร์ – วันอาทิตย์  เวลา 9.00 – 16.00 น.

ชื่อปริญญา

  • ชื่อเต็ม (ไทย) : เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ)
  • ชื่อย่อ  (ไทย) : ศ.ม. (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ)
  • ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Master of Economics (Business Economics)
  • ชื่อย่อ  (อังกฤษ) : MBE (Business Economics)

การบริหารโครงการ

การบริหารโครงการมีคณะกรรมการรับผิดชอบโครงการ 2 ชุด คือ
1. คณะกรรมการบริหารโครงการ ประกอบด้วย ประธานกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาฯเป็นประธานกรรมการ  และกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาฯ เป็นกรรมการ โดยมีประธานกรรมการ  ดำเนินงานโครงการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยความเห็นชอบของหัวหน้าภาควิชา
2. คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาสรรหาจากคณาจารย์ประจำภาควิชา ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย หรือพนักงานมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลที่ภาควิชาเห็นเหมาะสมและกรรมการ ซึ่งประธานกรรมการดำเนินงานโครงการเลือกจากคณาจารย์ประจำของภาควิชา ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และ/หรือพนักงานมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลที่ภาควิชาเห็นเหมาะสม โดยมีเลขานุการ 1 คน

ความเป็นมา MECON

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดให้มีการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2512 – 2513 โดยระยะแรกใช้ชื่อหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ต่อมาในปีการศึกษา 2519 – 2520 ได้เปลี่ยนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้นำความรู้ไปปฏิบัติงานได้กว้างขวางมากขึ้น นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ผลิตมหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนมากออกสู่สังคม ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาชั้นนำ สถาบันการเงิน และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม จากสภาพการณ์ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐและเอกชนต่างมีความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของตนให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น โดยเฉพาะการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อตอบสนองความจำเป็นดังกล่าว ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ จึงได้จัดให้มีโครงการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) ภาคค่ำ นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2534 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2544 โครงการฯ ได้เปลี่ยนชื่อปริญญาจากวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) เป็นเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ทำงาน สามารถศึกษาต่อขั้นปริญญาโทนอกเวลาทำงานได้
  • เพื่อผลิตมหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน
  • เพื่อเพิ่มขีดความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในภาครัฐบาล และเอกชน ตลอดจนสามารถประยุกต์ช้ความรู้ในทางปฏิบัติได้

รหัสสาขา XG 60

ลักษณะหลักสูตร และระยะเวลาการศึกษา

หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มี 1 แผน คือ แผน ก มีวิทยานิพนธ์ หน่วยกิตรวม 38 หน่วยกิต หลักสูตรมีระยะ เวลาการศึกษา 2 ปี แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ภาคการศึกษาต่อปี ดังนี้

ภาคปลาย    เดือนธันวาคม –  เมษายน
ภาคฤดูร้อน  เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน
ภาคต้น       เดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน

เวลาเรียนระหว่างวันจันทร์ –  ศุกร์ 18.00 – 21.00 น. (เรียนสัปดาห์ละ 3 – 4 วัน)

ชื่อปริญญา

  • ชื่อเต็ม (ไทย) : เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต
  • ชื่อย่อ (ไทย) : ศ.ม.
  • ชื่อเต็ม (อังกฤษ) : Master of Economics
  • ชื่อย่อ  (อังกฤษ) : M.Econ.

การบริหารโครงการ

การบริหารโครงการมีคณะกรรมการรับผิดชอบโครงการ 2 ชุด คือ
1. คณะกรรมการบริหารโครงการ ประกอบด้วย ประธานกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาฯเป็นประธานกรรมการ  และกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาฯ เป็นกรรมการ โดยมีประธานกรรมการ  ดำเนินงานโครงการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยความเห็นชอบของหัวหน้าภาควิชา
2. คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำภาควิชาสรรหาจากคณาจารย์ประจำภาควิชา ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย หรือพนักงานมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลที่ภาควิชาเห็นเหมาะสมและกรรมการ ซึ่งประธานกรรมการดำเนินงานโครงการเลือกจากคณาจารย์ประจำของภาควิชา ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย และ/หรือพนักงานมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลที่ภาควิชาเห็นเหมาะสม โดยมีเลขานุการ 1 คน